"ปัญจมหาสุบินนิมิต ๕ ประการ"


หลังจากที่พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ ทรงเห็นว่าการแสวงหาหนทางตรัสรู้ ๒ ทางแรกนั้น คือ การศึกษาเรียนรู้จากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร กับอุทกดาบส รามบุตร และ การกระทำทุกรกิริยา มิใช่หนทางแห่งพระโพธิญาณ จึงเปลี่ยนมาใช่หนทางที่ ๓ คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือ การบำเพ็ญเพียรทางจิตปฏิบัติ โดยทางสายกลาง แต่ทรงเห็นว่าสภาพร่างกายในตอนนี้ย่อมไม่สามารถที่จะปฏิบัติธรรมดังกล่าวได้ จึงเสด็จโคจรบิณฑบาตดุจกาลก่อน

ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ต่างปรึกษากันว่า แม้พระโพธิสัตว์ได้บำเพ็ญทุกรกิริยามาเป็นระยะเวลาถึง ๖ ปี ก็ยังไม่อาจบรรลุสู่หนทางตรัสรู้ บัดนี้ได้ละเลิกหันมาเที่ยวบิณฑบาตและบริโภคอาหารเหมือนเดิม ไหนเลยจะพบธรรมวิเศษได้ มีประโยชน์อันใดที่จะอยู่อุปัฏฐากพระองค์ต่อไป ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงพากันเดินทางไปยังป่า อิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้กรุงพาราณสี และเข้าอาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นซึ่งอยู่ห่างจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคมประมาณ ๑๕ โยชน์

พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ ทรงบำเพ็ญเพียรทางใจตามลำพังมาโดยตลอด จนถึงราตรีวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อบรรทมหลับ พระองค์ทรง “ปัญจมหาสุบิน” เป็นบุพนิมิตมหามงคล ๕ ประการ อันเป็นการฝันในลักษณะลางบอกเหตุสำคัญล่วงหน้า คือ

  1. ทรงพระสุบินว่า พระองค์เสด็จบรรทมหงายเหนือพื้นปฐพี พระเศียรหนุนภูเขาหิมพานต์ต่างพระเขนย หรือหมอน พระหัตถ์ซ้ายหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศตะวันออก
    พระหัตถ์ขวาหยั่งลงทางทิศตะวันตก และ
    พระบาททั้งสองหยั่งลงในมหาสมุทรทางทิศใต้
  2. ทรงพระสุบินว่า ติณชาติ หรือหญ้าแพรก เส้นหนึ่ง
    งอกออกจากพระนาภี หรือสะดือสูงขึ้นไปจนถึงท้องฟ้า
  3. ทรงพระสุบินว่า หมู่กิมิชาติ หรือหนอน ทั้งหลาย อันมีสีขาวบ้าง ดำบ้าง เป็นอันมาก ไต่ขึ้นมาแต่พื้นพระบาททั้งสองจนเต็มพระชงฆ์ หรือแข้ง และไต่ขึ้นมาถึงพระชานุมณฑล คือถึงหัวเข่า
  4. ทรงพระสุบินว่า หมู่สกุณชาติ หรือนก ทั้ง ๔ จำพวก มีสีต่าง ๆ กัน คือ สีเหลือง สีขาว สีแดง และสีดำ บินจากทิศทั้ง ๔ ลงมาจับแทบพระบาทแล้วก็กลับกลายเป็นสีขาวไปทั้งสิ้น
  5. ทรงพระสุบินว่า พระองค์เสด็จขึ้นไปเดินจงกรมบนยอดภูเขาอันเต็มไปด้วยอาจม แต่อาจมเหล่านั้นมิได้เปรอะเปื้อนพระยุคลบาท

เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ตื่นบรรทม ทรงทำนายมหาสุบินนิมิตด้วยพระองค์เอง ครั้นทราบด้วยปัญญาว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงเบิกบานพระทัย เมื่อทรงปฏิบัติภารกิจส่วนพระองค์ สระสรงพระวรกายหมดจดดีแล้ว จึงเสด็จไปประทับ ณ ร่มไม้นิโครธพฤกษ์ (ต้นไทร) ในยามเช้าแห่งวันเพ็ญวิสาขปรุณมีดิถี หรือวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๖ ซึ่งบางตำราบอกว่าตรงกับปีระกา

บรรดาบูรพาจารย์ได้ให้คำอรรถาธิบายเกี่ยวกับปัญจมหาสุบินไว้ว่า เป็นบุพนิมิตมหามงคล ๕ ประการ คือ 

  • พระบรมโพธิสัตว์มหาบุรุษ จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เลิศในโลกทั้ง ๓ อัน ได้แก่ เทวโลก มนุษย์โลก และยมโลก
  • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จะได้ทรงประกาศสัจธรรมเผยแผ่อริยมรรคมีองค์ ๘ หรือ มรรค ผล นิพพาน แก่เหล่าเทพยดาและมนุษย์ทั้งมวล
  • เหล่าคฤหัสถ์ พราหมณ์และชนทั้งหลายจะเข้ามาสู่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก และจะรับพระไตรสรณคมน์ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
  • ชาวโลกทั้งหลายทุกชั้นทุกวรรณะ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และศูทร เมื่อมาสู่สำนักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จะได้รู้ธรรมอันบริสุทธิ์หมดจดผ่อนใสโดยเท่าเทียมกัน
  • แม้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะบริบูรณ์ด้วยลาภสักการะและปัจจัยทั้ง ๔ ที่ชาวโลกจากทุกทิศน้อมนำมาถวายด้วยความเลื่อมใส ศรัทธา แต่พระองค์ก็มิได้มีพระทัยข้องอยู่ในลาภสักการะนั้นให้เป็นมลทินแม้แต่น้อย